สุนัขไอ แน่นอนว่าเป็นอาการที่ทำให้ผู้เลี้ยงรู้สึกกังวลใจ และอยากให้หายเป็นปกติเร็วที่สุด โดยการไอนั้นแฝงไปด้วยปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย บางอาการก็เป็นโรคทั่วไป แต่บางอาการก็อาจอันตรายกว่าแบบอื่นๆ ควรศึกษาถึงอาการไอของสุนัข รวมถึงสาเหตุและการรักษา เพื่อจะได้ช่วยสังเกตุอาการเวลาที่สุนัขไอเกิดขึ้น

สุนัขไอ เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ

อาการไอ เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายสุนัข เพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่จะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น สิ่งแปลกปลอม ฝุ่นละออง ควัน สารเคมี สิ่งคัดหลั่ง (mucus) การอักเสบ (inflammation) หรือแรงกดทับ เข้าไปในระบบทางเดินหายใจ จะเกิดการกระตุ้นตัวรับที่ทำให้เกิดอาการไอ (cough receptors) ทำงาน ส่วนใหญ่ตัวรับจะอยู่ที่บริเวณกล่องเสียง หลอดลมใหญ่ (trachea) และหลอดลมบริเวณขั้วปอด (mainstem bronchi) และมีตัวรับจำนวนน้อยลงในบริเวณหลอดลมส่วนปลาย จากนั้นสุนัขจะมีอาการไอเกิดขึ้น โดยแสดงอาการหายใจเข้าแรงขึ้น ตามด้วยอาการไอ เพื่อพยายามผลักสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปจากทางเดินหายใจ

อาการสุนัขไอหากพบนานๆ ครั้ง เช่นสัปดาห์ละครั้ง ถือว่าพบได้เป็นปกติ เนื่องจากอาจมีฝุ่นละออง หรือสารเคมีเข้าไประคายเคืองระบบทางเดินหายใจ เมื่อสุนัขไอออกมาแล้วอาการก็จะหายไป แต่หากอาการไอในสุนัขเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นเกิดขึ้นทุกวันหรือเกิดขึ้นทั้งวัน จนรบกวนการใช้ชีวิตปกติ ควรต้องหาสาเหตุเพื่อการวินิจฉัยโรคต่อไป

10 สาเหตุที่ทำให้สุนัขไอ

อาการสุนัขไออาจไม่ได้เกิดจากความพยายามในการขับสิ่งแปลกปลอมอย่างเดียว แต่อาจมาจากสาเหตุที่หลากหลาย ดังนี้

1. โรคหลอดลมอักเสบติดต่อของสุนัข

โรคหลอดลมอักเสบติดต่อของสุนัขคือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สุนัขไอ มักทำให้มีอาการไอแห้งๆ คล้ายกับมีอะไรติดคออยู่โดยไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย โรคนี้สามารถติดต่อจากสุนัขตัวอื่นได้ง่ายมาก ซึ่งหากมีแค่อาการไอแห้งๆ โดยไม่มีอาการป่วยอื่นก็ให้เจ้าของสบายใจได้ เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ และสามารถป้องกันได้ง่ายๆ ผ่านการฉีดวัคซีน

2. โรคเกี่ยวกับปอดหรือระบบทางเดินหายใจ

เช่นเดียวกับคน สุนัขสามารถป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม และอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หากติดไข้หวัดใหญ่สุนัข โดยอาการอื่นๆ อาจมีการหายใจลำบาก หายใจวี้ดๆ และสำลักหลังจากไอ โดยสัตวแพทย์จะสามารถวินิจฉัยและรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้อย่างรวดเร็วหากนำไปส่งถึงมือคุณหมอได้ทันเวลา นอกจากนี้การไอแบบเรื้อรังก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคมะเร็งปอด แต่ก็ไม่ได้พบได้บ่อย

3. โรคหลอดลมตีบ

หลอดลมตีบเป็นอาการเรื้อรัง รุนแรงที่ทำให้หลอดลมของสุนัขนุ่มและแบนลง ทำให้ขวางทางเดินหายใจของสุนัขจนเกิดอาการไอ อาการนี้พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์ตุ๊กตา

4. โรคหวัดในสุนัข

หวัดในสุนัขเป็นอีกโรคที่พบได้บ่อย เนื่องจากติดต่อได้ง่าย พบได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล จะมีอาการไอ (ทั้งไอแห้งๆ และไอแบบมีเสมหะ) น้ำมูกไหล จาม หรือในบางเคสอาจรุนแรงถึงขั้นปอดบวม หายใจลำบาก และเสียชีวิต

5. โรคหัวใจ

เพื่อนซี้สี่ขาของเราอาจป่วยด้วยโรคหัวใจ หรืออาการอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจเช่นเดียวกับเราๆ ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจที่อ่อนแรงอาจไปสร้างแรงกดดันให้กับปอดและทางเดินหายใจ โดยอาการไอที่เกิดจากปัญหาด้านหัวใจในสุนัขมักพบอาการอ่อนเพลีย หายใจถี่ หายใจลำบาก น้ำหนักเปลี่ยน รวมไปถึงล้มทั้งยืน

สุนัขไอ

6. โรคภูมิแพ้

สุนัขมีอาการแพ้ได้เช่นเดียวกับคน ไม่ว่าจะเป็นแพ้ฝุ่น ละอองเกสร ควันบุหรี่ ฯลฯ ที่ระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขต่อต้านมัน อย่างเช่นหากสุนัขที่แพ้ฝุ่น เผลอทานอะไรที่มีฝุ่นเข้าไป พวกเขาอาจไอเพื่อให้สิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาจากร่างกายโดยเร็ว

7. การติดเชื้อรา

เกิดจากการสัมผัสกับยีสต์หรือเชื้อราในดิน น้ำนิ่ง หรือทางอากาศ ซึ่งสุนัขอาจมีอาการไอควบคู่กับอาการไข้สูง ซึ่งต้องพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

8. พยาธิในปอด

พยาธิในปอดคือปรสิตชนิดหนึ่งที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา โดยสุนัขจะได้รับพยาธิชนิดนี้ผ่านการกินทากและหอยทาก ดังนั้นควรระวังให้ดีไม่ให้ไปกินมันเมื่อพาพวกเขาไปเดินเล่น โดยพยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในหัวใจและหลอดเลือดของโฮสต์ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไม่อยากออกกำลังกาย น้ำหนักลด เลือดไหล และหายใจลำบาก

9. พยาธิหนอนหัวใจ

นับเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต โดยแพร่ผ่านยุง ซึ่งทำให้เกิดอาการอย่างไอ น้ำหนักลด และเพลียง่าย ใกล้เคียงกับอาการของพยาธิในปอด จึงแนะนำให้สอบถามสัตวแพทย์หากกังวลถึงอาการเหล่านี้

10. โรคหัดสุนัข

หัดสุนัขเป็นอีกโรคหนึ่งที่อันตรายถึงชีวิตโดยสามารถติดต่อได้ทางอากาศ ซึ่งอาการนอกจากไอแล้ว ยังมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ไม่สบาย รวมไปถึงท้องเสีย

ประเภทของอาการสุนัขไอ

อาการไอในสุนัขมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นไอแห้ง ไอเป็นเลือด ไอแบบมีเสมหะ ฯลฯ ซึ่งอาจไม่สามารถบอกสาเหตุของการไอได้ทันที สิ่งที่เจ้าของควรทำคือจดจำ หรือถ่ายคลิปลักษณะการไอ ให้สัตวแพทย์ทำการวินิจฉัยต่อไป

  • ไอแห้ง

สุนัขจะไอแห้งๆ เหมือนพยายามขับอะไรบางอย่างออกมาจากลำคอหรือปาก จะมีเสียงแหบแห้ง ซึ่งมักเป็นอาการของโรคหลอดลมอักเสบติดต่อของสุนัข อาการติดเชื้อระบบหายใจส่วนบน ซึ่งมักติดต่อจากการไปพบปะกับสุนัขตัวอื่น

  • เสียงไอเหมือนเสียงห่าน

เสียงไอแห้งๆ แต่ต่ำเหมือนเสียงห่าน เป็นอีกอาการหนึ่งของโรคหลอดลมอักเสบติดต่อของสุนัข ที่อาจเกิดได้ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส หรือไม่ก็อาจเป็นอาการของโรคหลอดลมตีบ

  • ไอแบบมีเสมหะ

อาการไอแบบมีเสมหะ มักเกิดจากโรคหวัดในสุนัข หรือปอดบวม หากสุนัขมีเสียงเหมือนพยายามกลั้วคอ หรือขากเสมหะ นี่เป็นสัญญาณว่าสุนัขมีความผิดปกติในทางเดินหายใจส่วนล่าง ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

  • ไอเสียงแหลม

หากสุนัขไอแบบเสียงแหลม เหมือนกับกำลังมีอะไรติดคอ อาจเป็นอาการเจ็บคอ อาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนบน หรือเกิดจากมีอะไรขวางทางเดินหายใจ

  • ไอเฉพาะตอนกลางคืน

หากสุนัขไอเฉพาะตอนกลางคืนในขณะนอนหลับ นั่นอาจหมายถึงโรคร้ายแรงที่กำลังเกิด ให้แจ้งสัตวแพทย์ทันที

  • ไอเป็นเลือด

ก่อนอื่นให้เจ้าของสังเกตว่าเลือดที่สุนัขไอออกมานั้นเป็นสีอะไร เป็นสีเลือดสดๆ หรือเลือดสีแดงเข้ม การไอออกมาเป็นเลือดสดๆ นั้นอาจหมายถึงปัญหากรดเกินในกระเพาะ หรือการได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่หากเลือดเป็นสีแดงเข้ม นั่นแปลว่าเลือดคาอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน อาจหมายถึงแผลในกระเพาะ และถ้าสุนัขไอเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นเลือดบ่อยๆ ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

  • ไอเป็นโฟมสีขาว

การไอเป็นโฟมสีขาวอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดลมอักเสบติดต่อของสุนัข ท้องอืด หรือการไม่สบายท้องต่างๆ ซึ่งสองอาการหลังที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารนับเป็นโรคที่อันตราย หากพบควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที

สุนัขไอ

สุนัขไอต้องทำอย่างไร

เมื่อสุนัขไอ ไม่ว่าจะไอแบบเบาๆ ที่ดูไม่เป็นอันตราย หรือไอเสียงดังจนน่าตกใจ เจ้าของก็ควรตั้งสติแล้วจัดการดังนี้

  • ประเมินว่าอาการไอเป็นอาการฉุกเฉินหรือไม่
  • หาว่าอะไรคือสาเหตุของการไอ หากเป็นสิ่งของติดคอก็ควรนำออกโดยเร็ว
  • จดจำอาการอย่างละเอียดเพื่อแจ้งสัตวแพทย์

นอกจากนี้คุณยังสามารถช่วยให้สัตวแพทย์ทำงานง่ายขึ้นด้วยการจดจำความถี่ของการไอ และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นสุนัขไอบ่อยในช่วงกลางคืน ไอเมื่อนอนในท่าใดท่าหนึ่ง หรือมักไอหลังออกกำลังกาย เป็นต้น

การวินิจฉัยและการรักษาสุนัขไอ

เมื่อนำไปพบสัตวแพทย์ คุณหมอจะทำการตรวจวินิจฉัยถึงอาการอย่างถี่ถ้วนเพื่อหาสาเหตุของโรค ซึ่งสัตวแพทย์จะถามเจ้าของดังนี้

  • เสียงไอเป็นอย่างไร
  • อาการไอเกิดขึ้นตอนไหน
  • สุนัขได้รับวัคซีนและยาถ่ายพยาธิครบถ้วนหรือไม่
  • สุนัขได้พบปะกับสุนัขตัวอื่นหรือไม่ ได้ไปที่อื่นนอกจากบ้านบ้างหรือเปล่า

หลังจากนั้นจะทำการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

  • อาการที่เป็น ความผิดปกติที่พบ
  • ประวัติการรักษา
  • ตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางการแพทย์อื่นๆ

วิธีการรักษาสุนัขไอ

  • วิธีการรักษาสุนัขไอด้วยยา

สัตวแพทย์อาจมีการจ่ายยาแก้ไอเพื่อให้สุนัขสบายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีการจ่ายยาอื่นๆ เช่นยาปฏิชีวนะ และยาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น

  • วิธีการรักษาอาการสุนัขไอที่บ้าน

หากเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ก็สามารถกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยเจ้าของต้องเตรียมน้ำเยอะๆ และจัดที่เงียบๆ อบอุ่น เพื่อให้ได้พักผ่อน อาจเปิดเครื่องทำความชื้นเพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น และลดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ หรืออาจพาเข้าห้องน้ำที่มีควันจากการอาบน้ำเพื่อให้ไอร้อนช่วยรักษา นอกจากนี้ยังควรปลดหรือคลายปลอกคอในช่วงที่พวกเขายังมีอาการไอ เพราะอาจทำให้ระคายเคืองกว่าเดิม

สรุป

มีสาเหตุมากมายที่ทำให้สุนัขไอ ซึ่งอาการไอก็มีหลายแบบ โดยเจ้าของควรจดจำหรือถ่ายคลิปไปให้สัตวแพทย์วินิจฉัย โดยเมื่อสุนัขไอให้ประเมินอาการ หาสาเหตุของการไอ ซึ่งสัตวแพทย์จะใช้ข้อมูลจากเจ้าของมาวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอ รวมไปถึงการตรวจร่างกาย และตรวจทางแล็บ หลังจากนั้นจะทำการรักษาด้วยยา และด้วยการรักษาที่บ้าน ซึ่งเน้นให้สุนัขได้พักผ่อน และอาจมีการใช้ความชื้น (เครื่องทำความชื้น/ไอจากการอาบน้ำ) มาช่วยให้สุนัขอาการดีขึ้น

 

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่  elevageroziere.com
สนับสนุนโดย  ufabet369